ผู้เข้าชม
0
8 ตุลาคม 2567

ด้วยวิธีการศึกษาของอาจารย์ศรีศักรได้ใช้การวิเคราะห์หลักฐานในทางมานุษยวิทยา รวมถึงหลักฐานทางวัตถุสถานประกอบ การตั้งข้อสังเกตส่วนมากได้กล่าวถึงความเป็นศิลปะพื้นถิ่นที่ไม่สามารถผูกโยงกับอิทธิพลวัฒนธรรมใดได้อย่างชัดเจน ภาพสลักอิฐบนซุ้มประตูทั้ง ๓ ด้านและรูปกษัตริย์ทรงพาหนะถือเป็นลวดลายที่เก่าแก่ที่สุด และได้สรุปถึงลักษณะของศิลปกรรมที่เป็นไปได้ไว้ว่า

‘…ลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบนี้กล่าวได้ว่ามีแหล่งที่มาเดียวกันกับปราสาทของจามและขอม ลวดลายประดับอิฐในระยะแรกๆ เป็นของกลุ่มชนที่อยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนนี้ ซึ่งได้รับแบบอย่างมาจากศิลปกรรมที่ผ่านทะเลขึ้นมาทางปากแม่น้ำโขงและแคว้นอันนัมสมัยหลังราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ก็มีการซ่อมแซมลวดลายอิฐขึ้น ลักษณะของเสากลมและเทวรูปที่ประดับใกล้เสาได้อิทธิพลศิลปะขอมแบบไพรกเมง…’

นอกจากนี้ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ยังได้อรรถาธิบายและวิเคราะห์ไว้อย่างลุ่มลึกใน ‘เมืองสกลนครโบราณในรัฐ ศรีโคตรบูร และตำนานอุรังธาตุ’ บทความ ซึ่งขยายความต่อจาก ‘ตำนานอุรังคธาตุกับความคิดคำนึงทางโบราณคดี’ ว่า ทุกวันนี้รู้จักพระธาตุพนมในลักษณะที่ว่าเป็นพระธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่และมีความศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

แต่ปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่ามีมานานเท่าใดใครเป็นผู้สร้างอยู่ในแว่นแคว้นใดมาก่อนตลอดจนมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพียงใดนั้น ยังเป็นที่คาดคะเนไม่ได้แน่นอนและมักเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในวงการโบราณคดี

 ‘…สิ่งที่พอจะกล่าวได้อย่างมั่นใจขณะนี้ก็คือลักษณะของศิลปกรรมอันได้แก่ลวดลายและภาพที่สลักบนแผ่นอิฐซึ่งประดับรอบพระธาตุเจดีย์ตอนล่างทั้งสี่ด้านเป็นลักษณะศิลปกรรมที่เป็นตัวเองไม่ใช่ลักษณะศิลปะของจาม มอญ และขอม ทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่าเป็นของที่สร้างโดยชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในสมัยโบราณคือเจ้าของดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขง หลักฐานทางโบราณคดีขณะนี้ยังไม่มีเพียงพอส่วนใหญ่เป็นตำนานพงศาวดารซึ่งเรียบเรียงขึ้นภายหลังเหตุการณ์เป็นจริงที่เกิดขึ้นช้านาน

เอกสารที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของพระธาตุพนมและเรื่องราวของประชาชนตลอดจนแว่นแคว้นที่เกี่ยวข้องซึ่งถือได้ว่าดีที่สุดขณะนี้ก็คือ ตำนานอุรังคธาตุ


ภาพสลักอิฐบนซุ้มประตูขององค์พระธาตุพนม