ผู้เข้าชม
0
11 สิงหาคม 2563

 

ลูกปัดทำจากหินและแก้ว พบจากบริเวณเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร พบลูกปัดแบบตรีรัตนะอยู่โดยทั่วไป


 

ชิ้นส่วนของผอบที่พบที่เขมายี้นี้เมื่อนำไปประกอบเพื่อหารูปเต็ม พบว่าเป็นแบบเดียวกับของที่พบที่เมืองกบิลพัสดุ์และเมืองตักศิลาแต่สมัยพระเจ้าอโศกลงมา ในขณะที่ตุ้มหูทองคำผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีของอินเดียบอกว่า เป็นแบบเดียวกันกับตุ้มหูของภาพสลักจักรวาทินที่เมืองอมราวดีในพุทธศตวรรษที่ ๕

ทั้งชิ้นส่วนของผอบบรรจุพระธาตุและตุ้มหูทองคำที่พบที่เขมายี้ คือสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าได้ถึงบางอ้อในเรื่องราวเข้ามาของพระพุทธศาสนาและการปกครองแบบราชามหากษัตริย์ในดินแดนสุวรรณภูมิ ว่าเป็นเรื่องที่เข้ามาจากการค้าขายทางทะเลข้ามมหาสมุทรอินเดีย จากฝั่งตะวันออกของอินเดียมายังฝั่งทะเลอันดามันของคาบสมุทรสยามหรืออีกนัยหนึ่งคาบสมุทรไทย

การเข้ามาดังกล่าวนี้น่าจะเกิดขึ้นภายหลังการส่งพระสมณทูตโสณะและอุตตระเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในรัชกาลพระเจ้าอโศก ซึ่งก็สอดคล้องกันกับบรรดาโบราณวัตถุ เช่น ตรีรัตนะ ตุ้มหู ทองคำ และขันสำริดที่มีลวดลายสัญลักษณ์ รูปสตรี พบที่ดอนตาเพชรและเขาสามแก้วซึ่งมีอายุราวสมัยราชวงศ์โมริยะ–สุงคะลงมา

ที่คลองหนูอันเป็นแหล่งเรือจอดและที่เขมายี้ พบพระสถูปจำลองเล็กๆ คล้ายกับบรรดาสถูปดินเผาที่พบร่วมกับพระพิมพ์ในสมัยศรีวิชัยราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ลงมา  แต่มีขนาดใหญ่กว่า คงเป็นวัตถุเคารพที่มากับชาวเรือและผู้คนในชุมชนสมัยก่อนที่มีการสร้างพระพุทธรูป ส่วนตรีรัตนะนั้นเป็นสัญลักษณ์ของการหมุนธรรมจักร อันหมายถึง มรรคสี่มีองค์แปดในพระอริยสี่ เป็นสัญลักษณ์และวัตถุมงคลที่มีมาจนราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ ก็ค่อยๆ หมดไป และไม่ค่อยแพร่หลายออกไปจากบริเวณคาบสมุทร

สมัยต่อมาในยุคฟูนัน แถบดินแดนภายในเช่นที่เมืองอู่ทองและลพบุรี ทั้งตรีรัตนะและวัตถุสัญลักษณ์ต่างๆ ก็พบไม่เท่ากับการแพร่หลายของพระธาตุที่เข้ามากับเรือค้าขาย ได้ถูกส่งต่อและผลิตต่อไปยังชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ ห่างไกลจากบริเวณคาบสมุทรในลักษณะที่เป็นลัทธิบูชาที่มีการประกอบพิธีกรรมและสอนศาสนา ทำให้เกิดการสร้างพระสถูปขึ้นเป็นศูนย์กลางทางจักรวาลของชุมชนบ้านเมืองและรัฐในเวลาต่อมา เกิดเป็นวัดวาอารามขึ้นมาในพื้นที่สาธารณะของชุมชน เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีพระสถูปบรรจุพระธาตุเป็นศูนย์กลางของการเคารพและประกอบพิธีกรรม และเป็นสำนักที่อยู่ของบรรดาสมณะชีพราหมณ์ที่เผยแพร่ความรู้ทางพุทธศาสนา และการประกอบพิธีกรรมในเรื่องศักดิ์สิทธิ์ให้บรรดาผู้นำของบ้านเมือง ทั้งเข้ามาเป็นพราหมณ์ปุโรหิตให้แก่บรรดาผู้นำที่ตั้งตัวเป็น ‘ราชามหากษัตริย์’ แบบอย่างของคนอินเดีย