ผู้เข้าชม
0
11 สิงหาคม 2563

ทั้งชุมชนภายในเมืองและรอบเมืองอู่ทองล้วนอยู่เป็นหมู่เหล่าที่มีศาสนสถานเป็นศูนย์กลางและสัญลักษณ์ทางจักรวาล เช่นชุมชนที่นับถือศาสนาฮินดูมีเทวาลัยเป็นศูนย์กลางอยู่ทางตะวันตกของเมืองที่มีลำน้ำลำห้วยไหลลงจากเขาพุหางนาคผ่านมาลงลำน้ำจระเข้สามพัน เป็นบริเวณที่นอกจากมีเทวาลัยแล้ว ยังมีการสร้างอ่างเก็บน้ำแบบบารายที่ในท้องถิ่นปัจจุบันคิดว่าเป็นคอกช้าง ลักษณะของศาสนสถานและศาสนวัตถุเป็นเช่นเดียวกันกับที่พบในเขตแคว้นตามพรลิงค์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและแหล่งโบราณคดีของฟูนันที่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างในเขตประเทศเวียดนาม

ส่วนแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัยของคนที่นับถือพุทธศาสนาอยู่ทั้งภายในเมืองและรอบเมือง โดยมีพัฒนาการจากแหล่งชุมชนเดิมที่มีมาแต่สมัยสุวรรณภูมิขึ้นเป็นชุมชนในพุทธศาสนาที่มีพระสถูปเจดีย์เป็นศูนย์กลาง  และชุมชนเหล่านี้อยู่ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดีแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘

เมืองอู่ทองทั้งในเขตเมืองและนอกเมืองที่เป็นชุมชนมาแต่สมัยสุวรรณภูมิหรือสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้น พบลูกปัดหินสีและแก้วสี รวมทั้งเครื่องประดับ ดวงตราสัญลักษณ์ที่มีอักษรอินเดียโบราณจารึก มีทั้งที่นำเข้ามาจากภายนอกและเป็นแหล่งผลิตเพื่อส่งต่อไปยังที่อื่น

หนึ่งในบรรดาลูกปัดหินสีที่เป็นสัญลักษณ์ ‘ตรีรัตนะ’ [Triratna] หรือ ‘นันทิยาวัตตะ’ [Nandiyavatta] อันเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชลงมาก็พบในเขตเมืองอู่ทองนี้

ลูกปัดตรีรัตนะที่พบที่เมืองอู่ทองนี้อยู่ในความครอบครองของนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ที่ได้มาจากชาวบ้านในเขตเมืองอู่ทอง เป็นของที่ไม่ใคร่พบในบรรดาเมืองโบราณที่อยู่ในภาคกลางและภาคอื่นๆ ในฝั่งทะเลอ่าวไทย ยกเว้นบริเวณคาบสมุทรตั้งแต่จังหวัดชุมพร ระนอง ลงไปถึงสุราษฎร์ธานีและพังงา  อันเป็นบริเวณที่มีเส้นทางข้ามคาบสมุทรสมัยสุวรรณภูมิ   

ลูกปัดตรีรัตนะที่พบทางฝั่งอ่าวไทยที่สำคัญก็คือ ‘แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว’ ที่มีการขุดค้นทางโบราณคดี ทำให้พิสูจน์ได้ว่าเป็นเมืองท่าขนส่งสินค้าข้ามคาบสมุทรมายังชุมชนท่าเรือจอดในเขตจังหวัดระนองที่มีการขุดค้นทางโบราณคดีแล้วเช่นที่ภูเขาทองและบางกล้วย แต่แหล่งสำคัญที่ข้าพเจ้าไปเห็นมาคือ ‘บริเวณคลองหนูและเขมายี้’ บนเกาะสองในเขตแดนพม่าที่นายแพทย์บัญชาค้นพบ


ข้าพเจ้าได้มีโอกาสร่วมสำรวจกับนายแพทย์บัญชาและเขียนรายงานเสนอไว้ในวารสารเมืองโบราณ บริเวณคลองหนูริมอ่าวใหญ่คือบริเวณ ‘ท่าเรือจอด’ [Entry port] แต่เขมายี้ที่ห่างขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว ๘ กิโลเมตร คือตำแหน่ง ‘เมืองท่า’ [Emporium] เช่นเดียวกับเขาสามแก้ว เป็นแหล่งเมืองที่รวมสินค้ามาทำการแลกเปลี่ยน และในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งผลิตสินค้าที่เป็นเครื่องใช้สอย เครื่องประดับ ลูกปัด แก้วแหวนเงินทองที่นำรูปแบบจากอินเดีย กรีกโรมัน เปอร์เซีย และอาหรับส่งต่อออกไปในรูป ‘สินค้ามีค่า’ [Prestige goods] ดังเช่นลูกปัดตรีรัตนะ และลูกปัดอื่นๆ ที่มีทั้งทำด้วยหินสี แก้ว ทองคำที่มีจารึกหรือลวดลายสัญลักษณ์ที่มาจากอินเดียแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๓ ลงมา เช่นสมัยโมริยะ-สุงคะ เป็นต้น

การพบทั้งแหล่งท่าเรือจอด [Entry port] และเมืองท่า [Emporium] ดังกล่าวนี้ ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจเรื่องราวที่มีอยู่ในเอกสารโบราณที่ว่า บรรดาพ่อค้าที่ข้ามทะเลมายังสุวรรณภูมินั้นไม่ได้แล่นเรือมาถึงแลกเปลี่ยนสินค้าแล้วกลับ หากมีคนบางกลุ่มบางเหล่าเข้ามาด้วย อาจจะมาอยู่ชั่วคราวรอเวลากลับตามฤดูกาลของลมมรสุมหรือตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างถาวร เช่นพวกที่มีฝีมือในการช่างเพื่อผลิตสินค้ามีค่า [Prestige goods]

ดังในหลักฐานทางเอกสารกล่าวถึงการตั้งกิลด์ [Guild] ซึ่งมีลักษณะเป็นชุมชนของช่างฝีมือ งานช่างฝีมือเหล่านี้เป็นลักษณะงานที่มีขึ้นตอนเป็นอุตสาหกรรมที่อาจจะมีอยู่รวมอยู่ในบริเวณเมืองท่าเช่นเขาสามแก้วและเขมายี้ หรือกระจายอยู่ตามถิ่นอื่นๆ ในลักษณะที่เป็น Cottage industries ที่สะท้อนให้เห็นจากแหล่งพบลูกปัดที่นายแพทย์บัญชาไปพบเห็นมา

ณ เมืองเขมายี้ ที่ข้าพเจ้าได้เข้าไปสำรวจและศึกษาร่วมกับนายแพทย์บัญชา นอกจากจะได้พบเห็นบรรดาลูกปัดมีค่าที่มีรูปและลวดลายสัญลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมมากมาย อันเป็นของเคลื่อนย้ายได้แล้ว ก็ยังพบโบราณวัตถุที่เป็นชิ้นส่วนของสิ่งที่เป็นโครงสร้างติดที่ ซึ่งมีลวดลายแกะสลักและจารึกเช่นเดียวกับที่พบลูกปัดอันเป็นของเคลื่อนย้ายได้

ในบรรดาสิ่งที่พบเห็นเหล่านี้ ข้าพเจ้าไม่พบพระพุทธรูป จนแม้แต่ลวดลายที่เป็นพระพิมพ์ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าต้องตีความในขณะนี้ว่า แหล่งโบราณคดีเขมายี้อยู่ในยุคสมัยก่อนการมีพระพุทธรูปที่เกิดในพุทธศตวรรษที่ ๖-๗ ลงมา แต่เหนืออื่นใดในบรรดาโบราณวัตถุทางสัญลักษณ์ที่นายแพทย์บัญชาพบและรวบรวมไว้ได้จากเขมายี้ก็คือ ชิ้นส่วนของ ‘ผอบที่บรรจุพระธาตุ’ กับ ‘ตุ้มหูทองคำ’ มีลวดลายรูปช้างและสตรี อันเป็นสัญลักษณ์ช้างแก้วและนางแก้วอันเป็นแก้วเจ็ดประการแห่ง ‘จักรวาทิน’ หรือ ‘พระจักรพรรดิราช’