เริ่มต้นจากการผูกมิตรด้วยการนำเอาเปลือกหอยทะเลที่เป็นของหายากมาร้อยคล้ายกับลูกปัด แล้วนำไปเป็นของขวัญระหว่างกัน ระหว่างกลุ่มผู้ซื้อขายสร้อยเปลือกหอยนี้จึงเรียกได้ว่าเป็น ‘สินค้าทางเกียรติภูมิ’ [Prestige goods] เป็นเรื่องที่นำมาเปรียบเทียบกับการแลกเปลี่ยนสินค้าของสังคมที่เป็นบ้านเป็นเมืองที่มีผู้นำเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ เป็นพ่อเมืองและกษัตริย์
เช่นการค้าระหว่างรัฐในเมืองไทยครั้งกรุงศรีอยุธยากับจีนในสมัยราชวงศ์หมิง ซึ่งเรียกกันว่าระบบ ‘จิ้มก้อง’ หรือ ‘บรรณาการ’ ความสำคัญของระบบนี้มีสองขั้นตอน ตอนแรกเป็นเรื่องที่พ่อค้าหรือผู้ที่จะมาทำการค้านำของขวัญมากำนันแก่บุคคลที่เป็นผู้นำของบ้านเมือง นับเป็นขั้นตอนของการนำมาให้ [Distribution] หลังจากนั้นผู้ที่รับของขวัญซึ่งเป็นผู้นำของบ้านเมืองก็จะทำการแจกจ่ายเป็นกำนัลให้บรรดา ‘บุคคลที่อยู่ในแวดวง’ [Entourage] ใต้อำนาจของตน ดังเช่นกษัตริย์ปูนบำเหน็จให้กับขุนนางข้าราชการที่อยู่ในฐานะและตำแหน่งลดหลั่นลงไป
ลักษณะการแจกจ่ายหรือส่งต่อของผู้นำดังกล่าวนี้เรียกว่า Redistribution เพื่อต้องการความจงรักภักดีเป็นการตอบแทน
ในการศึกษาหลักฐานโบราณคดีตามแนวคิดของนักมานุษยวิทยานั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องประดับที่ทำจากของหายากเช่น แก้ว หินสี ทอง เงิน และโลหะผสมที่มีรูปแบบและลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์นั้น คือสิ่งที่เป็น ‘สินค้ามีค่า’ [Prestige goods] ที่ใช้เป็นของกำนันตามกระบวนการที่กล่าวมาแล้ว
ดังเช่นลูกปัดที่พบตามแหล่งโบราณคดีในท้องถิ่นต่างๆ ที่ข้าพเจ้าแรกคิดว่าเป็นเพียงเครื่องประดับเพื่อตกแต่งร่างกายเพื่อความสวยงาม พบตามผิวดินตั้งแต่สมัยทวารวดีลงมา ของพวกนี้อาจบอกได้ถึงที่มาอายุและประโยชน์ใช้สอยที่เป็นทั้งเครื่องประดับและเครื่องเซ่นศพสำหรับคนตาย และเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนแทนเงินตราในสังคมเผ่าพันธุ์แบบดั้งเดิม แต่ในระยะหลังที่มีการขุดแหล่งโบราณคดีเพื่อหาลูกปัดจากแหล่งฝังศพและหลุมศพที่มีอายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ขึ้นไป ก็พบบรรดาลูกปัดและเครื่องประดับที่ล้วนเป็นของเซ่นศพคนตายที่มีรูปแบบขนาด ลวดลาย สัญลักษณ์ และการแต่งสีบนผิวหินมีค่าและแก้ว รวมทั้งพบดวงตราที่มีอักษรจารึกและเครื่องประดับที่เป็นทองคำ เช่นที่เมืองอู่ทองและบ้านดอนตาเพชรแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้มีความรู้เพิ่มขึ้นว่า บรรดาโบราณวัตถุจากหลุมศพเหล่านี้เป็นจำนวนมากมาจากต่างประเทศแต่สมัยฟูนันขึ้นไปจนถึงสมัยสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะการขุดค้นแหล่งฝังศพที่บ้านดอนตาเพชรนั้น พบลูกปัดและเครื่องประดับที่ทำด้วยหินและแก้วที่มาจากทั้งทางตะวันออกในเวียดนามโบราณกับที่มาจากตะวันตกของอินเดียซึ่งมีอายุแต่พุทธศตวรรษที่ ๓
Karumosa คือเรือแคนูที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนแบบ Kula
เจ้าของคือชาว Taunisala แห่งหมู่บ้าน Kadawaga ในหมู่เกาะ Trobriand