ผู้เข้าชม
0
11 สิงหาคม 2563

 

นับเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มคนพื้นเมืองจากสังคมที่ไม่มีอักษรและภาษา [Non-literate society] เข้าสู่ความเป็นสังคมมีลายสักษณ์ [Literate society] ที่มีภาษาบาลี-สันสกฤต และศิลปวัฒนธรรมและวิทยาการจากอินเดียเข้ามายังสุวรรณภูมิ

สิ่งสำคัญของอารยธรรมอินเดีย [Indic culture] ที่ข้าพเจ้าจะพูดในที่นี้ที่เป็นสถาบันทางสังคม คือ ‘ศาสนาและการปกครอง’ ที่นักวิชาการยุคอาณานิคมคิดว่าลอกแบบอย่างจากอินเดียชนิดที่ก๊อปปี้มาก็ว่าได้ [Indianization]

จึงมักให้ความเห็นที่ดูถูกสติปัญญาในความเป็นคนในดินแดนสุวรรณภูมิที่พัฒนาตัวเองจนเกิดเป็นบ้านเมืองและรัฐที่มีผู้นำปกครองในลักษณะพ่อบ้านพ่อเมืองแล้ว เพียงแต่ยังไม่เปลี่ยนไปเรียกบรรดาพ่อบ้านพ่อเมืองและหัวหน้าเผ่าพันธุ์เหล่านั้นว่าเป็น ‘ราชามหากษัตริย์’ แบบอย่างอินเดียเท่านั้น หากเป็นการรับเข้ามาบางส่วนและสิ่งที่ปรับให้เข้ากันกับวัฒนธรรมของท้องถิ่นได้

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่นักมานุษยวิทยาเรียกว่า ‘การปรับปรนให้เข้าเป็นของท้องถิ่น’ [Localization of cultural elements] เรื่องนี้นักประวัติศาสตร์ที่ข้าพเจ้าเคารพเป็นครูคือ  ศาสตราจารย์ โอ.ดับเบิลยู. วอลเตอร์ [O. W. Wolters] ใช้ในการปลดล็อคคำว่า Indianization of Southeast Asia ที่คิดเห็นโดยศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ [George Cœdès] นักโบราณคดีฝรั่งเศสในยุคอาณานิคม

ยิ่งกว่านั้นในแนวคิดทฤษฎีของนักมานุษยวิทยาที่ได้รับการอบรมในเรื่อง ‘การแพร่วัฒนธรรม’ จากสังคมหนึ่งไปยังอีกสังคมหนึ่ง เช่นจากอินเดียมายังสุวรรณภูมิก็เป็นเรื่องที่ไม่แพร่เข้ามาทั้งหมดทั้ง ‘รูปแบบ’ [Form] และ ‘เนื้อหา’ [Content] แต่เป็นเพียงบางส่วนที่ผู้รับเข้ามานำไปปรับปรนให้เกิดเป็นวัฒนธรรมของตนเอง

และในการติดต่อระหว่างกันในกระบวนการค้าขายข้ามมหาสมุทรจากอินเดียมาสุวรรณภูมินั้น ก็หาได้เป็นการแลกเปลี่ยนค้าขายด้วยระบบตลาดแบบการใช้เงินตราตอบแทนกันอย่างในปัจจุบัน หากเป็นความสัมพันธ์ในทางสังคมของกลุ่มผู้ซื้อและผู้ขายในรูป ‘การแลกเปลี่ยนของขวัญ’ [Gift exchange] เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางไมตรีระหว่างกัน เป็นพื้นฐานก่อนที่จะมีการแลกเปลี่ยนสิ่งของในการค้าขาย ดังตัวอย่างการแลกเปลี่ยนของคนในสังคมเผ่าพันธุ์ที่หมู่เกาะโทเบรียนด์ [Trobriand Islands] ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เรียกว่า Kula exchange หรือ Kularing โดยนักมานุษยวิทยาชื่อ ‘มาลินอฟสกี้’ [Bronisław Malinowski] ศึกษาไว้

 

 

 

การแลกเปลี่ยนแบบกูลา [Kula trade] การวิจัยของมาลินอฟสกี้ในหมู่เกาะโทรเบรียนด์ Trobriand การแลกเปลี่ยนระหว่างเปลือกหอย [Soulava] และสร้อยข้อมือต่างๆ [Mwali] ซึ่งของชิ้นหนึ่งจะถูกแลกเปลี่ยนไปตามระบบการหมุนตามเข็มนาฬิกา ส่วนชิ้นอื่นจะแลกไปตามทิศทางทวนเข็มนาฬิกา วัตถุประสงค์ของการค้าขายแลกเปลี่ยนนี้ไม่เน้นในเรื่องของผลประโยชน์ทางวัตถุแต่มุ่งเน้นการกระชับความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างผู้ให้และผู้รับ