ผู้เข้าชม
0
11 สิงหาคม 2563

 

คนอินเดียโบราณรู้จักภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีทั้งหมู่เกาะคาบสมุทรและแผ่นดินใหญ่ว่าเป็นดินแดนโพ้นทะเลที่เรียกว่า ‘สุวรรณภูมิ’ เป็นภูมิภาคที่มีผู้คนอยู่แล้ว เป็นบ้าน [Village] เป็นเมือง [Town] และรัฐ [Early state] มาแล้วแต่สมัยยุคเหล็กตอนปลาย คือราว ๕๐๐ BC. ลงมา เป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่งไปด้วยทรัพยากร แร่ธาตุ และของป่านานาชนิดที่พ่อค้าคนอินเดียแล่นเรือข้ามทะเลมหาสมุทรอินเดียมาค้าขายกับคนพื้นเมือง จึงกล่าวถึงการเดินเรือมาค้าขายของคนอินเดียในเอกสารโบราณ เช่น ใน ‘คัมภีร์อรรถศาสตร์’ อันเป็นตำราในการปกครองบ้านเมืองที่เป็นอาณาจักรมคธครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช และบรรดาคัมภีร์ทางศาสนารวมทั้งตำนานชาดกอันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองของ ‘ราชามหากษัตริย์’  ครั้งที่พระพุทธเจ้ายังเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ในพระชาติต่างๆ ของการบำเพ็ญบารมี

การเข้ามาค้าขายของคนอินเดียกับคนพื้นเมืองของสุวรรณภูมิแต่ครั้งนั้น คือการปะทะสังสรรค์ระหว่างกันในทางเศรษฐกิจและสังคมของคนในสมัยประวัติศาสตร์ที่มีอารยธรรมเป็นบ้านเป็นเมืองและรัฐเมื่อราว ๑,๐๐๐ BC. มาแล้ว คนพื้นเมืองในภูมิภาคสุวรรณภูมิมีความเจริญเติบโตทางสังคม จากชุมชนบ้านและเมืองมาเป็นรัฐแรกเริ่มที่เป็นรัฐเล็กๆ ที่บรรดานักโบราณคดีเรียกว่า ‘ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย’ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ‘สมัยเหล็กตอนปลาย’ เมื่อประมาณ ๕๐๐ BC. ลงมา

การปะทะสังสรรค์อันเนื่องจากการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าทางเศรษฐกิจอันเป็นเรื่องของทางวัตถุที่มีผลไปถึงความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่มีระดับความเจริญทางวัฒนธรรมที่ต่างกัน คือ ระหว่างคนอินเดียที่มีอารยธรรม [Civilization] กับคนพื้นเมืองที่มีความเจริญในระดับวัฒนธรรมท้องถิ่น [Local culture] ของสังคมที่มีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองและรัฐแรกเริ่มเท่านั้น จึงเป็นผลที่ทำให้เกิดการรับวัฒนธรรม [Culture contact] ของคนอินเดียที่เจริญกว่าเข้ามาปรับใช้และเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมดั้งเดิม [Folk culture] ของผู้คนแต่ละรัฐและบ้านเมืองที่มีมาแต่เดิม

ต่างหูทองคำ ต่างหูชิ้นสำคัญพบที่เขมายี้ ขนาดราว ๔.๘ x๑.๙ เซนติเมตร หนัก ๔๔ กรัม ซึ่งมีเทคนิคการทำและลวดลายที่พบก็ทำให้อายุของการทำทองและช่างทองน่าจะเก่าไปถึงช่วงราชวงศ์เมารยะ-ศุงคะ  แอนนา เบนเนต [Anna Bennett] วิเคราะห์ว่าเป็นการทำด้วยเทคนิคแบบ Granulation คือการติดเม็ดทองกลมๆ เล็กๆ ลงบนผิวแผ่นทองบางๆ โดยใช้แป้งกาวที่ผสมกับทองแดงประสาน เมื่อผ่านความร้อนเนื้อทองแดงก็จะละลายเข้าเป็นเนื้อเดียวกับทองจนแทบไม่เห็นรอบต่อ ลูกทองกลมขนาดล็กๆ ทำเตรียมไว้ขนาดต่างๆ เพื่อนำมาติดแปะเป็นรูปร่างลวดลาย เทคนิคอันละเอียดปราณีตนี้เข้าสู่อินเดีย ผ่านทางวัฒนธรรมเปอร์เซียเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๕ ในราชวงศ์เมารยะ-ศุงคะ (พ.ศ. ๒๒๑-พ.ศ. ๓๕๘, พ.ศ. ๓๕๘-๔๘๐) ที่ต่อเนื่องกับสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์เมารยะ (พ.ศ. ๒๗๐-พ.ศ. ๓๑๑) เปรียบเทียบกับภาพสลักแบบนูนต่ำจักรวาทิน [Chakravarti] หรือพระจักรพรรดิราช เช่นที่ภาพนูนต่ำแบบอมราวดีจากอานธรประเทศ งานชิ้นนี้กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๕